เปิดปูม เจ้าพ่ออุทัย “ชาดา ไทยเศรษฐ์” หลังถูกตำรวจปฏิบัติการไล่ล่าสกัดจับขบวนรถ
“ชาดา” เพิ่งเป็น ส.ส.แค่ 2 สมัย แต่ทุกความเคลื่อนไหวของเขาได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ เนื่องจากเขาเป็น “ผู้ทรงอิทธิพล” แห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง มายาวนาน ตั้งแต่สมัยเล่นการเมืองท้องถิ่น
อุทัยธานี เป็นจังหวัดขนาดกลาง ตรงรอยต่อภาคกลางกับภาคเหนือ สมัยก่อนเป็น “เมืองปิด” ดูคล้ายเงียบสงบ แต่กลับถูกขึ้นบัญชีดำของฝ่ายความมั่นคง เป็นเมืองที่มี “มือปืนรับจ้าง” ติดอันดับท็อปเท็นของเมืองไทย
สำหรับตระกูลการเมืองของอุทัย ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ก็มีอยู่ 5-6 ตระกูลคือ ทุ่งทอง, นุ้ยปรี, มงคลศิริ, เหลืองบริบูรณ์, โต๋วสัจจา และไทยเศรษฐ์
ในทางการเมือง ชาวอุทัยล้วนทราบดี คำว่า “บ้านใหญ่” นั้น หมายถึง “บ้านดอนหมื่นแสน” ต.ดอนขวาง อ.เมืองอุทัยธานี นี่คืออาณาจักรของ “พี่ใหญ่ใจดี” ชื่อชาดา ไทยเศรษฐ์ ที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา บนเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่
ใครเดือดร้อนอะไร? ก็ไปหา “พี่ใหญ่” ที่บ้านใหญ่ หรือบ้านดอนหมื่นแสน
ว่ากันว่า “ไทยเศรษฐ์” สืบเชื้อสายมาจากแขกปาทาน ที่อพยพมาจากตอนเหนือของปากีสถาน โดยส่วนใหญ่แขกปาทานในไทย จะยึดอาชีพค้าเนื้อ ปู่ของชาดา เป็นพ่อค้าเนื้อรายใหญ่ในจังหวัดอุทัยธานี
พ่อของชาดา ทำกิจการรับบรรทุกไม้ซุง ก่อนจะหันมาค้าวัวควายส่งออกต่างประเทศ และขายเนื้อในตลาดอุทัย เพราะอาชีพค้าเนื้อนี่เอง ทำให้ชีวิตของชาดา ต้องกลายเป็นลูกกำพร้า เนื่องจากการแย่งชิงผลประโยชน์ก้อนโตของธุรกิจค้าเนื้อ
ความที่เป็นคนไม่ยอมก้มหัวให้กับอิทธิพลเถื่อนเช่นนี้เองที่ทำให้ชาดาหวิดเอาชีวิตไม่รอดจากคมกระสุนปืน หลังจากเขาปฏิเสธที่จะซื้อวัวควายที่กำนันอิทธิพลคนหนึ่งขโมยมาเพื่อนำมาขายต่อให้กับเขา
“เราบอกเราไม่ซื้อ วัวควายเขามาทำไปก็ไม่เจริญหรอก สงสารชาวบ้านเขา เขามีวัวควายคู่หนึ่งก็เหมือนกับชีวิตเขา แล้วไปขโมยเขามา มันไม่ถูก เขามาบังคับให้เราซื้อ ก็เรียกผมไปคุย ผมบอกผมไม่ซื้อ เขาขู่ว่าถ้าไม่ซื้อจะทำเนื้อขายแข่งกับผม ผมบอกก็ทำไปสิ คุณไปขออนุญาตตามกฎหมาย ก็ทำกันไป ผมไม่ว่าอะไร”
“หลังจากนั้นไม่นานผมก็โดนยิง ผมก็เคยคุยกับพรรคพวกว่า สงสัยต้องโดนแน่ เพื่อนก็บอกว่า ไก่ยังไม่เข้าเกี้ยวหรอก แค่คิด ผมก็บอกว่าจะเข้าเกี้ยวก็คงตอนที่ผมถูกยิง พูดเสร็จก็หัวเราะกัน ตอนนั้นผมอยู่ที่หนองฉาง ซึ่งเป็นบ้านย่าผม เพื่อนผมก็จะไปคอกวัวกัน ผมบอกว่าจะนอน ผมอยู่บ้านคนเดียว สักพักนึกไปนึกมาก็เปลี่ยนใจจะไปคอกวัว ก็เดินไปเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก่อนไปถึงคอกวัว ผมไปแวะหาเพื่อนคนหนึ่งเพื่อให้เขาตามไปช่วยงานที่คอกวัว หลังจากคุยธุระเสร็จ คนขี่มอเตอร์ไซค์ก็ขี่ออกไปทางหน้าบ้าน พอจะขึ้นถนนใหญ่ คนร้ายก็ขี่สวนเข้ามา ไอ้คนซ้อนมันก็ชักปืนออกมายิงผม ผมก็ตกใจสะบัดหน้าหนี นัดแรกไม่ถูก มันจึงวิ่งตามมายิงผม ปรากฏว่าโดนที่แขน วิถีกระสุนพลาดไปโดนคนอื่น พอดีตำรวจเขามาพอดี ผมก็วิ่งหนีเข้าไปในบ้านคน ช่วงนั้นที่ อ.หนองฉาง มีเหตุยิง ตำรวจเขาเลยมาไว และก็สามารถจับมอเตอร์ไซค์ได้ มือปืนเป็นคนอื่น เราเห็นว่าไม่ใช่ ตอนหลังจึงสืบรู้ว่าเป็นใครที่มาทำร้าย”
เมื่อโดนผู้มีอิทธิพลสั่งเก็บเช่นนี้ ชาดาใช่ว่าจะนิ่งเฉย เขาเดินหน้าสู้กับอธรรมอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้ว่าผู้มีอิทธิพลคนนี้จะได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดก็ตามที
“เขาใหญ่โตมาก ตอนนั้นเมืองอุทัยฯ เป็นของเขา ผมก็ทำหนังสือร้องเรียนไปที่กรมตำรวจ ตำรวจเขาก็มาสอบ ตำรวจเขาก็ให้ความเป็นธรรม แต่ผู้ใหญ่สมัยนั้น บอก ‘โอ๊ย! เขาเป็นคนดี คุณมาว่าเขาเป็นโจรได้อย่างไร’ สอบกันไปสอบกันมา หลังเหตุการณ์ที่สอบไปวันนั้นได้ 3 วัน กำนันคนนั้นก็โดนจับที่นครสวรรค์
ปี 2511 พ่อถูกยิงเสียชีวิต น้องชายของพ่อก็ตามทวงหนี้เลือด มีการล้างแค้นกันไปมา เหมือนหนังฮ่องกง ต่างฝ่ายต่างลั่นกระสุนกลางตลาดอุทัย เพื่อชิงตลาดค้าเนื้อ และค้าวัวค้าควาย
ปี 2518 ชาดาในวัย 15 ปี แม่ถูกยิงเสียชีวิต ทำให้สงครามเลือดล้างตระกูลในลุ่มน้ำสะแกกรัง ดุเดือดเลือดพล่าน และ 7-8 เดือนต่อมา พี่ชายที่มารับช่วงกิจการก็ต้องสังเวยคมกระสุนจบชีวิตลงให้กับธุรกิจค้าเนื้อไปอีกคน
ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้ ญาติจึงนำชาดาหนีออกจากอุทัยไปหลบอยู่ที่เมืองกาญจน์(บ้านเกิดของแม่) อยู่หลายปี และเมื่อเขาเติบใหญ่เป็นหนุ่มฉกรรจ์ จึงกลับมาอุทัยเพื่อสืบสานธุรกิจค้าเนื้อ
แน่นอน บนถนนสายธุรกิจค้าเนื้อ ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องฝ่าห่ากระสุนไปให้รอด ชาดาและเพื่อนๆ เปิดศึกรบกับ “ผู้มีอิทธิพล” ที่ได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในอุทัยธานี เขาเดินหน้าชน ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม สู้กันทั้งบนดินและใต้ดิน สุดท้ายเขาคือ ผู้ชนะ!!
หลังมรสุมอิทธิพลมืดได้จางหายไป กิจการค้าเนื้อของชาดาก็เริ่มขยับขยายไปเรื่อยๆ โดยมีเขาเป็นหัวเรือใหญ่ โดยส่งเนื้อไปขายที่ตลาดอุทัยธานีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
เมื่อประสบความสำเร็จในการประกอบกิจการค้าเนื้อ ชาดาเริ่มขยับไปลงทุนทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทำเหมืองหิน ทำธุรกิจโรงแรม รวมถึงเป็นนายหน้าค้าที่ดิน
ลงหลักปักฐานธุรกิจจนมั่นคง ชาดาจึงก้าวเข้าสู่สนามการเมืองท้องถิ่นในฐานะสมาชิกสภาเทศบาลเมืองอุทัยธานี เมื่อปี 2533 หลังจาก “วุฒิไกร เหลืองบริบูรณ์” นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานีขณะนั้นถูกลอบยิงเสียชีวิต
ต่อมา ชาดาจับมือกับกลุ่มการเมืองตระกูล “เหลืองบริบูรณ์” ตั้ง “กลุ่มคุณธรรม” ลงเลือกตั้ง และผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลฯ กลุ่มคุณธรรมเดินเข้าสภาเทศบาลอุทัยธานี ได้ทั้งหมด 18 คน ชาดาได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรี
ชาดาเป็นนายกเทศมนตรี ติดต่อกันมาหลายสมัย ก่อนจะส่งต่อให้น้องสาว- มนัญญา ไทยเศรษฐ์
การเลือกตั้งปี 2550 ชาดา เบนเข็มจากท้องถิ่นสู่สนามการเมืองใหญ่ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยแรกในสังกัดพรรคชาติไทย หรือพรรคชาติไทยพัฒนาในปัจจุบัน ด้วยความเป็นคนมากบารมี มีชื่อเสียงในยุทธจักร สื่อมวลชนจึงให้ความสนใจในตัวเขาราวกับเป็นผู้แทนเก่า
เมื่อชาดา เป็นผู้แทนฯ จึงพยายามแผ่ขยายอาณาจักร ไม่ใช่เพียงยึดฐานเทศบาลเมืองอุทัย หากยังรวมไปถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัย โดยชาดา สนับสนุน “เผด็จ นุ้ยปรี” เป็นนายก อบจ.อุทัย มาสองสมัยแล้ว
ปี 2554 ชาดา ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย และปีถัดมา ชาดาเปิดตัว ฟารุต ไทยเศรษฐ์ ให้เป็นทายาททางการเมือง และเตรียมลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่เดือน ส.ค.ปีเดียวกัน "ฟารุต" ถูกยิงเสียชีวิตบนรถของชาดา นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของผู้กว้างขวางเมืองอุทัย
ต้นปี 2559 ชาดา จัดงานแต่งงานลูกสาว 2 คนคือ ปานัดฌา ไทยเศรษฐ์ และอัลฑริกา ไทยเศรษฐ์ โดยพิธีฉลองมงคลสมรสครั้งนั้น มีแขกผู้เกียรติมาร่วมงานนับหมื่นคน เฉพาะนักการเมือง แกนนำพรรคชาติไทยมายกพรรค, ชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ, เสนาะ เทียนทอง, จตุพร พรหมพันธุ์ , ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฯลฯ
หลังรัฐประหาร 2557 ชาดา ตกเป็นเป้าของ คสช. ในฐานะ “ผู้มีอิทธิพล” ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี โดยในรอบ 3 ปี เขาถูกตำรวจบุกค้นบ้านมาแล้ว 3 ครั้ง
ครั้งแรก วันที่ 23 ก.ค.2558 ตำรวจกองปราบเปิดยุทธการสะแกกรัง ปิดล้อมตรวจค้นเครือข่ายผู้มีอิทธิพลและมือปืนรับจ้างในจังหวัดอุทัยธานี 11 จุด และในนั้น มีบ้านของชาดารวมอยู่ด้วย
ครั้งที่สอง วันที่ 12 เม.ย.2559 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านเป้าหมายผู้มีอิทธิพลละเมิดกฎหมาย รวมถึงบ้านพักนายชาดา
ครั้งที่สาม วันที่ 23 มี.ค.2560 พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เปิดยุทธการไพร่ฟ้าหน้าใส ตรวจค้นผู้มีอิทธิพลในจังหวัดอุทัยธานี 30 จุด และไม่พลาดที่จะค้นบ้านของชาดาอีกครั้ง
ฉากชีวิตของชาดา ไม่ต่างจากนิยายบู๊ล้างผลาญ แต่เขาจะโลดโผนในยุทธจักรไปได้นานแค่ไหน ผู้คนในวงการต่างเฝ้าจับตามอง?
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น